Cr.รูปจากคัมภีร์กระษัยในแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์
กษัยราก
“กษัยราก” รู้ได้ยังไงว่าเป็นโรคทางสมุฏฐานไหน และ อาการอยู่ในช่วงไหนของร่างกาย เมื่อเช้า มีนักเรียนถามมา เลยมาต่อยอดในนี้ให้ตามสไตล์น้ำหวานค่ะ
ในตำราว่าไว้ “กษัย (ไกษย)” คือ “โรคที่บังเกิดขึ้นแก่มนุษย์ ทำให้มีอาการแห่งความเสื่อมโทรม ซูบผอม สุขภาพของร่างกายไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเป็นโรคหรือไข้อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำลายสุขภาพของร่างกายให้เสื่อมโทรมไปทีละน้อย เป็นเวลาต่อเนื่องกันโดยไม่ได้รับการบำบัดรักษา หรือ รักษาแต่ไม่ถูกกับโรคหรือไข้นั้นโดยตรง(อชินโรค)
เนื่องจากไม่มีอาการอะไรรุนแรงให้เห็นได้ชัด มีอาการผอมแห้งแรงน้อย โลหิตจาง ผิวหนังซีดเหลือง ปวดเมื่อยตามร่างกายและกล้ามเนื้อ บางครั้งไอ บางครั้งไอเป็นโลหิต ทำให้รู้สึกแน่นและหนักตัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ
ปัสสาวะเหลืองและปัสสาวะกะปริบกะปรอย ไม่มีกำลัง ทำให้ชาปลายมือปลายเท้า มีเหงื่อออกตามฝ่ามือ ฝ่าเท้าและเหงื่อออกตอนกลางคืน ยอกเสียวตามหัวอกและชายโครง บางคนผิวหนังตกกระตามร่างกาย กล้ามเนื้อชักหดและลีบ มีอาการสะท้านร้อนสะท้านหนาวเป็นคราวๆ และท้องผูกเป็นประจำ ลักษณะกษัยโรคมี 26 จำพวก
ถ้าดูจากข้อความด้านบน จะเห็นว่าอาการทางกระษัย เป็นอาการที่เป็นมานานแล้ว บางแห่งจึงพูดว่าเป็นอาการเรื้อรัง ดังนั้นตกลงสันนิบาตแล้ว ซึ่งกระษัย แบ่งเป็น กองธาตุสมุฏฐาน 8 จำพวก (แจ้งในคัมภีร์ กล่อนวุฒิกะโรค = กล่อน 5 ประการ) และ อุปาติกะ 18 จำพวก ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในแพทย์ศาตร์สงเคราะห์
แต่วันนี้จะมาพูดกันเรื่อง กษัยราก ซึ่งเป็น กษัยที่เกิดขึ้นเป็นอุปปาติกะ (คือนึกจะเกิดก็เกิดขึ้นมาเอง เกิดได้ยังไงไม่มีใครทราบ) ตามหัวข้อด้านบน
กษัยราก “บังเกิดเพื่อลมร้อง ให้อาเจียนลมเปล่า แลให้ลั่นอยู่ในท้องดังจ๊อกๆ แล้วให้ตึงไปทั้งกาย ดุจบุคคลเอาเชือกมารัดไว้ ให้ผู้นั้นร้องครางอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนมิได้ขาด ดังจะกลัดใจตาย”
ถ้าสังเกตุจากอาการในคัมภีร์ จะเห็นว่าอาการมีแค่อยู่ในช่วงท้อง ไม่ขึ้นไปข้างบน และจะคล้ายกับ กุจฉิสยาวาตาพิการ ในคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ (ท้องขึ้นท้องพอง ลั่นในท้องดังจ๊อกๆเจ็บในอกสวิงสวาย แดกขึ้นแดกลง) ซึ่งเกิดร่วมกับ ปริณามัคคีพิการ (ร้อนในอกในใจ ไอเป็นมองคร่อ ท้องข้ึนท้องพอง ผะอืดผะอม) จนลงไปที่ ไส้ใหญ่พิการ (ผะอืดผะอม ท้องขึ้นท้องพอง มักเป็นท้องมาน ลมกระษัย ลงท้องตกมูกตกเลือด) แล้วแปรไปเป็นกระษัย ซึ่งคนกลุ่มนี้มักมีอาการท้องผูกด้วย
ถ้าดูตามอาการแล้ว จะเห็นว่ามีอาการทางลมเป็นหลัก ซึ่งเกิดจาก เสมหะหย่อน (อุระ และ คูถ เสมหะ)ทำให้ ปิตตะกำเริบ (พัทธะปิตตะ) หรือ ปิตตะกำเริบ ทำให้ เสมหะหย่อน แล้วจึงทำให้ วาตะ แน่นอัดอยู่ในท้องจนพิการ และกระทบรัตตะฆาต ดุจดังเชือกมาผูกรัดตัวไว้
ดังนั้น ถ้าจะรักษาอาการกระษัยราก ตัวยาที่ใช้จึงต้องเป็นออกแนวร้อน เพื่อให้ลมที่อัดค้างกระจายออกได้
ถ้ามาวิเคราะห์ตามตำรับยา ซึ่งขอเลือกมาเฉพาะอันที่ยังพอหาตัวยาได้นะคะ
กระเทียม ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู ดีปลี ลูกสวาด ลูกกระเบา รากเจตมูลเพลิง สะค้าน รากช้าพลู เสมอภาค ตำเป็นผงบดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนกินก็จะเห็นว่า ตัวยาจะออกฤทธิไปทางร้อน เน้นทางด้านลมเป็นหลัก เพื่อให้ลมกระจาย แต่มีตัวยาที่ช่วยขับออกทางคูถเสมหะด้วย
ดังนั้นถ้าจะรักษา ให้เริ่มวิเคราะห์จากอาการ แล้วดูว่าอาการที่เป็นอยู่ในช่วงไหน ซึ่งอาการนี้อยู่บริเวณอุทร จึงต้องดูแลทั้งลมกุจฉิที่อยู่ในช่องท้อง ลำไส้ใหญ่ให้ขับถ่ายได้ และตับที่เป็นตัวผลิตน้ำดีสร้างน้ำย่อย และทำให้เกิดปริณามัคคีค่ะ
แต่กษัยส่วนใหญ่จะไม่ใช่อาการที่สุด หรือ อาการตัดนะ หลายๆอาการจึงมักจะแปรลงไปเป็นมานต่อ
หวังว่าจะมีประโยชน์และทำให้เข้าใจมากขึ้นนะคะ